ผู้เขียนเดินทางไปแม่ฮ่องสอนหลายครั้ง และค้างคืนในหลายๆ ที่ ทั้งที่ในเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปาย และอำเภอแม่สะเรียง สำหรับที่ในเมืองแม่ฮ่องสอนนั้น ไปครั้งสุดท้ายเมื่อ ๔ ปี ที่แล้ว แปลกมากครับ เพราะได้ไปพักที่โรงแรมเดิมโดยไม่ได้จองเอง และไปในช่วงเวลาเดียวกันด้วยคือต้นเดือนกรกฎาคม
ไปแม่ฮ่องสอนคราวนี้ไปเพื่อสังเกตการณ์งานของมูลนิธิครับ ก็ผู้เขียนเป็นกรรมการของมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด นี่ครับ ไม่ได้ลงมือกับเขาหรอก นอกจากได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่บางอย่างเท่านั้น
วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดนั้น เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ และสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย
ดังนั้น จึงหาแนวทางหลายๆ ทางและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ หลายต่อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสำหรับข้าราชการ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนในแทบทุกระดับ ในการปลุกจิตสำนึกดังกล่าว เพื่อให้เป็นคนดีของสังคม
ในการจัดกิจกรรมเหล่านี้ผู้เขียนได้ไปร่วมงานเกือบทุกครั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่จนจบสิ้นทั้งโครงการ
คราวนี้มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดได้ร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดโครงการการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท หลักสูตรโครงการน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ขึ้น จึงถือโอกาสร่วมกิจกรรมตลอดรายการ ทั้ง ๓ วัน
เช้าวันเริ่มงานได้พูดคุยกับนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลายคนสมัครใจและดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ แต่มีนักเรียนคนหนึ่งที่แจ้งกับผู้เขียนว่าไม่อยากเข้าร่วมโครงการนี้หรอกครับ และที่ไม่ได้สละสิทธิก็เพราะคิดว่านักเรียนคนอื่นคงก็ไม่อยากเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน
ผู้เขียนคาดว่าเหตุที่เกิดเช่นนี้อาจเป็นไปได้ที่ครูไม่ได้อธิบายให้นักเรียนได้เข้าใจก่อนว่าโครงการที่นักเรียนจะไปร่วมกิจกรรมนั้น มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างไร
หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือโอกาสนี้ฝากครูทุกท่านด้วยว่าในโอกาสต่อไป การให้นักเรียนไปร่วมในกิจกรรมไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม โปรดอธิบายให้นักเรียนเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการเข้าร่วมโครงการมีประโยชน์อย่างไร และหากเป็นไปด้วยความสมัครใจก็จะดีที่สุดครับ
ตั้งใจว่าจบโครงการแล้วต้องคุยกับนักเรียนผู้นี้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร ขอให้คอยอ่านในตอนท้ายนะครับ
โครงการนี้จัดขึ้นที่โครงการธนาคารฟืน อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในพิธีเปิดโครงการนั้น นายสมภูมิ ธรรมายอดดี รองศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งตอนนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรีแล้ว เป็นประธานในการเปิดโครงการ
มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ๖ โรงเรียน คือ โรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โรงเรียนขุนยวมวิทยา โรงเรียนชุมชนบ้านผาบอง โรงเรียนห้องสอนศึกษา โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ และโรงเรียนแม่สะเรียง "บริพัฒน์ศึกษา"
กิจกรรมการบรรยาย มี ๓ เรื่อง คือ เรื่อง “พระมหากษัตริย์ พ่อของแผ่นดิน” โดย ดร. สมโภชน์ นพคุณ กรรมการมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ผู้รับผิดชอบโครงการนี้
เรื่อง “หลักการทรงงานของ “พ่อของแผ่นดิน” พระจริยวัตรของพระองค์ที่เป็นแบบอย่างที่ดี” โดย ดร.ศักดิ์พงศ์ หอมหวล ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา และ เรื่อง “ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้อง และพระราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกณ์มหิศรภูมิพลราชวรางกูรฯ” โดยนายสมภูมิ ธรรมายอดดี
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมให้นักเรียนทำหลายอย่าง คือ การศึกษาดูงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศึกษาคำสอนของพระองค์จากพระบรมราโชวาท การสรุปบทเรียนที่ได้ และกิจกรรมสัมพันธ์ด้วย โดยมี “คู่มือการเข้าร่วมโครงการ” ให้นักเรียนทุกคนได้จดในสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการ ในคู่มือดังกล่าวได้ทำหัวข้อสั้นๆ ไว้เป็นแนวทางไว้ด้วย
นอกจากความรู้ที่นักเรียนได้รับแล้ว ผู้เขียนยังได้เห็นสิ่งที่ดีเกิดขึ้น เมื่อ ดร.ศักดิ์พงศ์ ได้ยกตัวอย่างคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงสอนเรื่องการปลูกป่าว่า ขอให้ “ปลูกป่าในใจคน” ปลูกแบบไม่ต้องปลูก โดยไม่ต้องมีพิธีการใดๆ ทั้งสิ้น กินอะไรไป เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ ก็ทิ้งเมล็ดลงดิน ไม่ต้องสนใจ เพราะต้นไม้จะเติบโตเอง
นักเรียนซาบซึ้งมากครับ เพราะนักเรียนได้ให้คำมั่นสัญญากันว่าจะร่วมกันปลูกต้นไม้คนละ ๑๐ ต้น ต่อปี ป่าไม้ในแม่ฮ่องสอนซึ่งมีมากมายอยู่แล้ว คราวนี้แหละแม่ฮ่องสอนคงมีป่าไม้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
การศึกษาฐานการเรียนของศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มแม่น้ำปาย ตามโครงการพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้น นักเรียนเดินทางโดยรถพ่วง ๓ คัน ไปชมฐานทั้ง ๘ ฐาน
ฐานดังกล่าวคือ (๑) การเรียนรู้ด้านพืช (๒) การจัดการฟาร์ม (๓) การจัดการน้ำ (๔) ประมง (๕) การเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ยโครงการเรียนรู้ด้านข้าว (๗) การป้องกันไฟป่าการดูแลรักษาป่า และ (๘) ธนาคารฟืนการใช้ประโยชน์จากป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง
ท่านผู้อ่านพอจะทราบไหมครับว่า ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง คืออะไร ลองเดาก่อนอ่านต่อก็ได้ครับ ไม้ ๓ อย่าง ตามแนวพระราชดำริ คือไม้พื้น ไม้กลาง และไม้สูง ส่วนประโยชน์ ๔ อย่าง คืออาหาร สมุนไพร ที่อยู่อาศัยและไม้ฟืนครับ จากฐานเหล่านี้นักเรียนได้เรียนรู้หลายอย่าง และนำความรู้ที่เรียนรู้จากฐานต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนของโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากฟังคำบรรยายแล้ว ยังจัดกิจกรรมสัมพันธ์ด้วย ก็สนุกสนานเฮฮากันพอสมควร ชมคลิปนะครับ https://youtu.be/qKWZ2WaVaW4
เพื่อไม่ให้เหน็ดเหนื่อยมากนัก ก็มีกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนการรับฟังการบรรยายด้วย ชมคลิปครับ https://youtu.be/KBd9_d5iRxI
อยากให้ชมอีกคลิปหนึ่ง ตอนนักเรียนเดินทางไปชมฐานการเรียนรู้ ได้เห็นความเป็นผู้นำของนักเรียน ผู้นำคนนี้ใช้มือถือแล้วหาความรู้จากเน็ตให้กับเพื่อน ๆ ด้วย https://youtu.be/9ntqLelH9Y0
กิจกรรมรอบกองไฟก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่ากล่าวถึง นักเรียน ๔ กลุ่ม ได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากการบรรยายมาแสดงออกเป็นการแสดง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ดี สท้อนให้เห็น การมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การรักษาวัฒนธรรมประเพณีของแม่ฮ่องสอน การไม่ทิ้งขยะ และการไม่ใช้สารเคมีในการปลูกผัก
กิจกรรมประจำวัน เช่น การเข้าแถว การเคารพธงชาติ การสวดมนต์ การสมาธิ การอบรมและการให้รางวัลแก่กลุ่มต่างๆ ที่ทำดี เช่น การตรงต่อเวลา การให้ความร่วมมือวิทยากร การจัดเตรียมสถานที่ การเป็นผู้นำผู้ตาม และการแสดงรอบกองไฟ ในวันสุดท้ายของโครงการฯ นักเรียนในแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันคิด ช่วยกันค้นคว้า แล้วจัดทำโปสเตอร์เพื่อนำเสนอ เสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้รับฟังการนำเสนอ เพราะต้องเดินทางกลับเที่ยวบินที่บินตรงกลับกรุงเทพมหานคร แต่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ชมความคิดของนักเรียนจากภาพถ่ายโปสเตอร์ข้างล่างนี้ครับ นับว่าเป็นความคิดที่ดีทีเดียวครับ แม้ว่ามีเวลาให้นักเรียนได้ช่วยคิดและช่วยกันทำในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ลืมสัมภาษณ์นักเรียนที่ตอนแรกแจ้งว่าไม่อยากเข้าร่วมโครงการ คำตอบก็คือ ดีใจที่ได้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย รับทราบในความกรุณาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้ทรงทุ่มเท เสียสละและพัฒนาสิ่งดีๆ ให้คนไทยทุกคน คงเสียใจมากหากไม่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนจาก ๖ โรงเรียนๆ ละ ๑๐ คน นี้จะเป็นตัวคูณ นำความรู้ ความเข้าใจที่ได้รับจากโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทไปสู่เพื่อนๆ ในโรงเรียนต่อไป ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประเทศไทยได้คนดีของแผ่นดินเพิ่มมากขึ้นครับ
พุธทรัพย์ มณีศรี