การทุจริตและประพฤติมิชอบหรือการคอร์รัปชั่น ซึ่งต่อไปนี้จะรวมเรียกว่า "คอร์รัปชั่น" เป็นปัญหาหนักอกของทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย สำหรับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้น ได้พัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ จากการคอร์รัปชันที่เป็นตัวเงิน กลายเป็นคอร์รัปชั่นที่มีผลประโยชน์ด้วย และหลังจากนั้นก็เกิดการคอร์รัปชั่นแบบใหม่คือการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แสดงให้เห็นว่าระดับการคอร์รัปชันได้พัฒนาให้ล้ำลึกขึ้น ทั้งนี้ เพื่อหนีการตรวจสอบ พอๆ กับที่เชื้อโรคได้พัฒนาตัวเองให้ชนะยารักษาโรคนั่นแหละครับ ดังนั้น ความยากง่ายในการตรวจสอบเรื่องการคอร์รัปชั่นก็ยิ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว คนที่คอรัปชันจึงมีฐานะร่ำรวย มีคนนับหน้าถือตามากมาย จนได้พบเห็นวลีที่ใช้กันบ่อยๆ ว่า “คนดีไม่มีที่ยืน”
แต่ในอนาคตคาดว่าวลีดังกล่าวนี้คงค่อยๆ เลือนหายไป และจะมีวลีใหม่เข้ามาแทนที่ วลีใหม่นั้นก็คือ “คนโกงจะไม่มีที่ยืน” เพราะ คสช. และรัฐบาลชุดนี้ได้เอาจริงเอาจังเรื่องการคอร์รัปชั่นมาตั้งแต่เริ่มแรก มีนโยบายและมีมาตรการต่างๆ ในอันที่จะหยุดยั้งรวมทั้งการปราบปรามการคอร์รัปชันด้วย และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อวานนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันอยู่ ๓ ประการ
- ประการแรก คสช. เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยแจ้งเบาะแสได้ที่เบอร์ Hotline 1299 หรือตู้ ปณ 444 หรือหน่วยทหารทั่วประเทศ และทราบว่ากระทรวงบางแห่ง เช่น กระทรวงพลังงาน ก็ได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องนโยบายการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อการทุจริตต่อหน้าที่ของบุคลากรกระทรวงพลังงานและส่วนงานราชการในสังกัด โดยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตด้วย ตั้งแต่วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผู้เขียนคิดว่ากระทรวงอื่นๆ ก็คงได้ทำแล้วหรือจะได้ทำในโอกาสต่อ ๆ ไป หากยังไม่ได้คิดหรือยังไม่ได้ทำ ก็คงเริ่มทำกันได้แล้วนะครับ ที่สำคัญ ท่านใดที่ทราบเบาะแสเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นก็ช่วยกันแจ้งไปตามศูนย์ต่างๆ นี้นะครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อจะให้คนโกงไม่มีที่ยืน สำหรับข้าราชการที่ชอบเรียกร้องผลประโยชน์จากประชาชนหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ รวมทั้งชอบเรียกหา “เงินทอน” นั้นก็โปรดหยุดการกระทำเช่นนั้นเสีย หากไม่ต้องการให้ตัวเองและครอบครัวตลอดถึงวงศ์ตระกูลต้องเดือดร้อน
- ประการที่สองก็คือ การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) และแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือในการสร้างระบบธรรมาภิบาลและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรัฐวิสาหกิจ โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ก็หวังว่าการดำเนินการข้างต้นคงกระทำกันอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ชาติและส่งผลต่อการลดปัญหาการทุจริตของประเทศ
ประการที่สาม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับการรับรองให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยที่ปะชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลักการสำคัญคือ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ ต่อไปนี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่น หากหลบคดีหนีระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งเมื่อก่อนนี้กระบวนการพิจารณาคดีต้องหยุดลง ทำให้คดีขาดอายุความในการดำเนินคดีอาญา และทำให้ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองต้องหลุดพ้นจากความรับผิดที่ได้กระทำไว้ ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ หากหลบหนีไม่ว่าอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ ศาลก็พิจารณาคดีลับหลังได้ หากมีความผิดจริง ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดที่ได้กระทำไว้ได้ ผู้ที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศก็อย่าหวังว่าเมื่อคดีหมดอายุความแล้วจะกลับมาเสวยสุขในเมืองไทยได้
หวังว่าต่อจากนี้ไปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คิดจะคอร์รัปชั่น คงต้องคิดหน้าคิดหลังกันได้แล้วว่าควรหยุดกระทำตามที่คิดหรือไม่ และต่อจากนี้ไป คนดีในประเทศไทยจะมีที่ยืน ส่วนคนโกงก็จะไม่มีที่ยืน ที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยจะใสสะอาดกันเสียทีครับ
พุธทรัพย์ มณีศรี