เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “โปรดช่วยกันทำให้คนโกงไม่มีที่ยืน” ใน Blog นี้ และต่อมาในวันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็ได้เขียนเรื่อง “การโกงเงินหลวงง่ายๆ ตรวจสอบก็ง่าย แต่ก็ไม่ค่อยสนใจตรวจสอบกัน” ใน Blog นี้ เข่นเดียวกัน
เขียนทั้งสองเรื่องแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่ายังมีกฎหมายปราบคนโกง ๒ ฉบับ ซึ่งไม่สอดคล้องต้องกัน สมควรอย่างยิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องต้องกันในอันที่จะขจัดคนโกงไม่ให้มีในประเทศไทย กล่าวคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา ๘๔ ได้บัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐดังต่อไปนี้ ว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกินห้าปี แต่ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๐๐ ได้บัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือนว่าข้าราชการพลเรือนสามัญได้เกษียณอายุไปแล้วไม่อาจดำเนินการทางวินัยได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ได้ดําเนินการสอบสวนตามมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ กล่าวโดยสรุปก็คือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรวมทั้งข้าราชการพลเรือนที่พ้นจากราชการไปแล้วไม่เกิน ๕ ปี แต่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ผู้บังคับบัญชาไม่อาจดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้วได้เว้นแต่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันหลังจากพ้นจากราชการ ดังนั้น ในกรณีที่ ป.ป.ช. พิจารณากล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเคยเป็นข้าราชการมาก่อนแต่พ้นจากราชการไปแล้วเกิน ๑๘๐ วัน แต่ยังไม่ถึง ๕ ปี หากศาลได้พิจารณาพิพากษาจำคุก ทางราชการก็ไม่อาจลงโทษทางวินัยโดยการไล่ออกได้ เพราะไม่ได้ดําเนินการสอบสวนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ ข้าราชการขี้โกงที่ได้พ้นจากราชการไปแล้วก็ยังอาจรับบำเหน็จบำนาญได้ ทั้งๆ ที่ถูกจำคุก ซึ่งหากเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น ก็ย่อมขัดเขินต่อเหตุผล เพราะถูกจำคุกแล้วไม่ถูกลงโทษไล่ออก ยังรับบำนาญได้เหมือนข้าราชการที่พ้นจากราชการแล้วทั่วไป และผู้เขียนก็ไม่ทราบว่ากฎหมายที่ใช้บับคับเกี่ยวกับข้าราชการอื่นๆ จะกำหนดเวลาในลักษณะนี้ไว้อย่างไร กำหนดระยะเวลาไว้แตกต่างกันหรือไม่ แม้จะสันนิษฐานว่าคงเป็นเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่ารัฐบาลน่าจะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายปราบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่โกงให้สอดคล้องต้องกัน อาจจะกำหนดระยะเวลา ๕ ปี หรือกำหนดเวลาเป็นอย่างอื่นตามความเหมาะสมก็ได้
ก็ไม่แน่หรอกนะครับ รัฐบาลอาจกำลังพิจารณาอยู่ก็ได้ เพราะได้ให้ความสำคัญเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่แล้ว หากเป็นอย่างนั้นก็ขอสาธุ ประเทศไทยจะได้หมดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่โกงบ้านโกงเมือง และประเทศไทยจะได้ใสสะอาด ปราศจากคอร์รัปชั่นกันเสียที
พุธทรัพย์ มณีศรี