ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๓ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาดและสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย
มูลนิธิฯ ได้พยายามปลูกฝังและสร้างแนวร่วมเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะนักเรียน เพื่อเขาเหล่านั้น “โตไปจะไม่โกง” ครับ ก็ได้แต่คาดหวังว่าเมื่อนักเรียนเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่โกง ประเทศไทยของเราก็น่าจะใสสะอาดมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ทำเฉพาะนักเรียนหรอกครับ แม้แต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ใหญ่ มูลนิธิฯ ก็ได้พยายามปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อเขาเหล่านั้นไม่โกงกินหรือทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบจะไม่มีทางหมด ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม มีมากมีมีน้อยมากก็เท่านั้นครับ ไม่ได้หวังให้คนโกงหมดแผ่นดินหรอกครับ
สำหรับในประเทศไทยเองนั้น หลายหน่วยงานครับที่ “หัวไม่ส่าย หางก็ไม่กล้ากระดิก” แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนและที่บางหน่วยงานก็ยังกล้าที่จะทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทุกคนยอมรับว่าท่านเป็นบุคคลที่ใสสะอาดมากคนหนึ่ง รวมทั้งมีนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่น แต่ก็ยังมีข้าราชการบางคนที่ทำตัวเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” สมัยก่อนมีคนกล่าวกันว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเขาเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนจากรัฐน้อย จนไม่เพียงพอกับการครองชีพ แต่คงไม่ใช่สมัยนี้แล้วละกระมังครับ เพราะเมื่อผู้เขียนเหลือบไปดูเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบันแล้วก็ต้องตกใจครับ คิดว่าทำไมตัวเองถึงเกิดมาเร็วนัก หากเกิดช้ากว่านี้สักหน่อยก็ยังคงรับราชการอยู่ ยังไม่เกษียณอายุราชการ อาจได้เงินเดือนเหมือนรุ่นน้องๆ เขาบ้าง
คำกล่าวข้างต้นเป็นเพียงคิดเล่นหรอกครับ เพราะดีแล้วที่เกษียณอายุ พ้นพงหนามมาแล้วได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุอย่างมีความสุขไปกับการท่องเที่ยวและการเขียนบทความ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กว่า ครับ ลองดูเงินเดือนข้าราชการในปัจจุบันกัน เป็นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำและขั้นสูงนะครับ
ประเภทบริหาร
นักบริหารสูง ๕๖,๓๙๐ – ๗๖,๘๐๐ บาท
นักบริหารต้น ๕๑,๑๔๐ – ๗๔,๓๒๐ บาท
ประเภทอำนวยการ
อำนวยการสูง ๓๒,๘๕๐ – ๗๐,๓๖๐ บาท
อำนวยการต้น ๒๖,๖๖๐ – ๕๙,๕๐๐ บาท
ประเภทวิชาการ
ปฏิบัติการ ๘,๓๔๐ – ๒๖,๙๐๐ บาท
ชำนาญการ ๑๕,๐๕๐ – ๔๓,๖๐๐ บาท
ชำนาญการพิเศษ ๒๒,๑๔๐ – ๕๘,๓๙๐ บาท
เชี่ยวชาญ ๓๑,๔๐๐ – ๖๙,๗๔๐ บาท
ทรงคุณวุฒิ ๔๓,๘๑๐ – ๗๖,๘๐๐ บาท
ประเภททั่วไป
ปฏิบัติงาน ๔,๘๗๐ – ๒๑,๒๑๐ บาท
ชำนาญงาน ๑๐,๑๙๐ – ๓๘,๗๕๐ บาท
อาวุโส ๑๕,๔๑๐ – ๕๔,๘๒๐ บาท
ทักษะพิเศษ ๔๘,๒๒๐ – ๖๙,๐๔๐ บาท
ยังอีกครับ ข้าราชการระดับชำนาญการถึงระดับนักบริหารสูง ยังมีเงินประจำตำแหน่งกันอีก ตั้งแต่ ๓,๕๐๐ บาท ถึง ๒๑,๐๐๐ บาท แล้วเงินจำนวนนี้ยังได้รับเป็น ๒ เท่า ที่กำหนดไว้อีกด้วย สำหรับท่านที่สนใจว่าตำแหน่งไหนได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่าไรนั้น ก็ลองเปิดดูใน กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ก็แล้วกันนะครับ แม้ว่าข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชั่นในระยะนี้น้อยลง จะเป็นด้วยข้าราชการมีจิตสำนึกมากขึ้นหรือมีวิธีการคอร์รัปชั่นที่แนบเนียนขึ้นจนอาจยังจับไม่ได้ ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ก็ยังมีข้าราชการบางคนยังคอร์รัปชั่นกันอยู่ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือในหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอนุมัติอนุญาตนั่นแหละครับ ที่เขียนไม่ได้เหมารวมถึงข้าราชการในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาตทั้งหมดหรอกครับ เพราะผู้เขียนยังเชื่อว่าข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนดี มีเพียงบางคนเท่านั้นที่นอกจากกินเงินเดือนหลวงแล้วยังสร้างความเดือนร้อนให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย ที่ผู้เขียนอึดอัดและต้องเขียนบทความเรื่องนี้ ก็เป็นเพราะพฤติกรรมของข้าราชการที่ผู้เขียนทราบมานั้นเหลือรับประทานจริงๆ เรียกเงินตอนที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุมัติอนุญาตยังไม่พอ ยังเรียกเงินเป็นรายเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายรับของการประกอบการนั้นๆ อีก เข้าใจว่าคงขอมาแบบนี้หลายรายแล้ว ไม่งั้นคงไม่กล้าขอรายนี้ เหตุที่ผู้ประกอบการต้องยอมเพราะข้าราชการผู้หน้าที่เสนอให้อนุมัติหรืออนุญาตนั้นโยกโย้ ดองเรื่องหรือทำทุกอย่างที่ทำเรื่องให้ช้า ผู้ประกอบการรอไม่ได้เพราะธุรกิจต้องเดินหน้า แม้ว่ามาตรา ๒๙ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติให้ส่วนราชการจัดทำแผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการให้แล้วเสร็จ และให้ติดประกาศไว้ในที่เปิดเผย และในมาตราต่อไปได้กำหนดว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน แต่อาจมีข้อยกเว้นได้ในบางกรณี แต่ข้าราชการที่กล้าคอร์รัปชั่นก็ไม่กลัว เพราะรู้ทั้งรู้ว่าผู้ประกอบการไม่กล้าร้องต่อหัวหน้าส่วนราชการ เพราะเป็นการทุบหม้อข้าวของตัวเอง แต่หัวหน้าส่วนราชการช่วยได้ครับ หากตั้งใจที่จะทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่นั้นใสสะอาดขึ้น ก็ต้องช่วยปัดกวาดส่วนราชการของตนเอง
สมัยเทคโนโลยีเฟื่องฟูนี้ไม่ยากเลยครับ เพราะปัจจุบันหลายส่วนราชการใช้ระบบสารบัญอิเลคทรอนิคกันอยู่แล้ว สำหรับเรื่องขออนุมัติอนุญาตก็ให้เรียกดูได้ว่าเรื่องเข้ามาเมื่อไร ออกเมื่อไร หากเกินเวลาตามที่สัญญาประชาคมไว้ ก็เรียกเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ สอบถามหาสาเหตุซิครับ หรือตรวจสอบว่าเรื่องทำนองเดียวกัน เหตุใดดำเนินการให้ผู้ประกอบการรายอื่นรวดเร็วภายในเวลาที่กำหนด แต่อีกผู้ประกอบการหนึ่งล่าช้าเหลือเกิน เหตุที่ช้าเพราะเขาไม่ยอมจ่ายไงละครับ เรียกมาสอบถามบ่อยๆ เข้า นอกจากจะได้ทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการบางประการ เพื่อนำไปแก้ไขขั้นตอนการทำงานให้รัดกุมยิ่งขึ้นแล้ว ยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อีกด้วย โดยที่มาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการในการตรวจสอบให้ข้าราชการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้
ดังนั้น หากขืนปล่อยปละละเลย และผู้ร้องขอรายใดเป็นประเภท “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ยกเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องตามมาตรา ๑๑๗ หรือฟ้องร้องศาลปกครอง หัวหน้าส่วนราชการก็เป็นจำเลยที่ ๑ นะครับ จะบอกให้
พุธทรัพย์ มณีศรี
ป.ล. ขอขอบคุณกูเกิ้ล สำหรับภาพประกอบทั้งหมด