ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องคอร์รัปชั่นมาแล้วหลายเรื่อง แต่ละเรื่องได้เล่าเหตุการณ์ที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตและประพฤติมิชอบหรือเรียกกันง่ายๆ ว่าคอร์รัปชั่นนั่นแหละครับ
แต่การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศให้การปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายหลักไปแล้ว แต่ทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนรวมทั้งข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งฟันเฟืองตัวน้อยๆ ในระบบราชการบางคนเช่นกันที่ยังทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนกันอีกมาก ทำให้การคอร์รัปชั่นไม่เคยลดน้อยถอยลง
นอกจากไม่น้อยลงแล้ว วิธีการคอร์รัปชั่นก็พลิกแพลงออกได้เป็นหลายๆ แบบ หากผู้ที่มีความคิดพลิกแพลงเหล่านี้ได้นำมาใช้ในการปฏิบัติราชการ ก็อาจทำให้ประเทศไทยก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
การคอร์รัปชั่นพื้นๆ เช่น การทุจริตงบก่อสร้าง ซึ่งทราบว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้รับเหมาต้องกันไว้ ๓๐% เพื่อตอบแทนกรรมการเปิดซองและกรรมการตรวจรับ ส่วนหัวหน้าใหญ่รับไปก่อน ๕% เป็นอย่างน้อย ท่านผู้อ่านที่ต้องจ่ายแบบนี้ก็อย่าบอกว่าที่ผู้เขียนเขี่ยนั้นมันน้อยไปนะครับ
ทราบมาว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด เรื่องที่กล่าวข้างต้นไม่ได้เป็นความลับ แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่มีใครว่าใคร เพราะกระจายผลประโยชน์ถ้วนหน้า ประเทศไทยจึงมีสิ่งก่อสร้างแบบที่เห็นๆ กัน
คอรัปชั่นอีกแบบหนึ่งก็คือการจ้างคนงานรายวัน ให้ลงลายมือชื่อรับเงิน ๓๐ วัน แต่จ่ายเงินให้เพียง ๑๕ วัน เท่านั้น ส่วนที่เหลือเข้ากระเป๋าตนเอง แบบนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ แต่ไม่มีผู้ใดกล้าบอกความจริง ทุกคนไม่อยากตกงานครับ การมีงานทำแล้วได้เงินครึ่งหนึ่งก็ดีกว่าไม่มีงานทำ
การจ่ายเงินโดยไม่กรอกจำนวนเงินนั้นกระทำกันมากที่สุด เรื่องนี้ผู้เขียนเคยเขียนถึงมาแล้ว การที่ เจ้าหน้าที่กรอกตัวเลขเองนั้น หากกรอกตัวเลขถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่ประการใด แต่ถ้ากรอกมากกว่านั้นแล้วตัวเองเก็บส่วนหนึ่งไว้ละครับ
ผู้เขียนพบเหตุการณ์เช่นนี้เมื่อไร ก็กรอกตัวเลขที่รับเงินไว้ทุกครั้งไป พร้อมทั้งแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าในโอกาสต่อไป ขอให้ลงตัวเลขไว้ให้เรียบร้อยด้วย
เรื่องการสัมมนานั้น สำหรับหน่วยงานที่ต้องติดต่อกับประชาชนอยู่เป็นประจำก็ใช้ชื่อประชาชนและและเลขประจำตัวประชาชนเข้าร่วมการสัมมนาโดยลงลายมือขื่อแทนนั้น ทำกันเยอะมากในต่างจังหวัด
วิธีการใหม่เอี่ยมมาแล้วครับ สำหรับบางหน่วยงานที่ไม่ได้ติดต่อกับประชาชนโดยตรง ไม่ทราบชื่อ แต่ก็ทำได้ครับ เพราะเพื่อนคนหนึ่งเพิ่งแจ้งว่า ได้ใช้วิธีขอรายชื่อข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจากหน่วยงานต่างๆ หน่วยงานละ ๔ - ๕ คน แจ้งด้วยนะครับว่าขอเพียงชื่อไม่ต้องเข้าร่วมการสัมมนาหรอก
ได้ชื่อไปแล้ว ยิ่งมีหนังสือของหน่วยงานของรัฐส่งรายชื่อเข้าร่วมการสัมมนาเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายด้วยแล้ว ยิ่งสบายใจใหญ่
ยังมีอีกครับ นอกจากนำชื่อมาร่วมเข้าสัมมนามากๆ แล้ว ยังให้โรงแรมทำส่วนต่างค่าอาหาร ค่าห้องพัก โดยยอมจ่ายค่าภาษีโรงแรมเอง โรงแรมไหนไม่ทำให้ หน่วยงานก็ไม่ไปจัด ซึ่งเป็นที่รู้กัน
เขาช่างกล้าหาญชาญชัยกันดีแท้ๆ นะครับ ทั้งหน่วยงานเองและโรงแรม
ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. น่าจะประชาสัมพันธ์ให้บ่อยๆ นะครับว่า หากพบว่าโรงแรมไหนมีพฤติกรรมเช่นนี้ จับได้เมื่อไรก็เอาเรื่องให้ถึงที่สุด ดูซิว่าโรงแรมจะรับใช้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหรือจะเลือกการถูกดำเนินคดี
สิ่งที่เกิดบางครั้งก็อยู่ไกลปืนเที่ยงครับ อย่าลืมว่าประเทศไทยนั้น มีแค่ ๗๖ จังหวัด ๘๗๘ อำเภอ ๗,๒๕๕ ตำบล และ ๗๕,๐๓๒ หมู่บ้าน ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในหมู่บ้านหรือตำบลต่างช่วยกันโกง ก็ยากที่จะจับ
คนในพื้นที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมักไม่ค่อยกล้าแจ้งเรื่องการโกงหรอกครับ เพราะหากพูดไปแล้ว ก็อาจจะอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ เงียบเป็นดีที่สุดครับ
ก็เป็นเรื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบในการปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบโดยตรงที่ต้องหาหนทางในการสืบ แสวงหาและจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวแล้วเข้าคุก
อยากย้ำเรียนให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทราบว่าแม้ว่าจะมีวิธีหลีกเลี่ยงหรือมีวิธีการคอร์รัปชั่นที่รัดกุม ไม่มีผู้ใดจับได้ แต่กรรมใดใครก่อ ย่อมได้รับกรรมนั้น
ผู้เขียนมีความเชื่อโดยสุจริตใจว่า กรรมที่ก่อย่อมถึงตัว ไม่ช้าก็เร็วครับ ไม่มีใครที่คอร์รัปชั่นแล้วมีชีวิตอย่างมีความสุขหรอกครับ ใจจะเป็นทุกข์ตลอดเวลาว่าเมื่อไรจะถูกจับเมื่อไร สู้ทำงานด้วยความสุจริต แล้วมีความสุขทุกวันจะดีกว่าครับ
ครับ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดก็คงต้องทำงานหนักขึ้น ในการหาหนทางที่จะสร้างจิตสำนึกให้คนในชาติได้ตระหนัก และไม่โกง
ครับ ก็คงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือละครับ เพื่อประเทศไทยใสสะอาด ปราศจากคอร์รัปชั่น
พุธทรัพย์ มณีศรี
(เผยแพร่ วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ : OK Nation Blog)