ระยะนี้ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับการส่งเสริมการให้ข้าราชการเป็นคนดีมีคุณธรรม รวมทั้งบทความเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นบ่อยขึ้น เจตนาก็เพื่อให้ผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม และเพื่อให้ผู้มีคุณธรรมจริยธรรมมีที่ยืนในสังคมได้อย่างสง่าผ่าเผย
ในทางกลับกัน ก็เพื่อให้คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือคนโกง โดยเฉพาะคนโกงบ้านโกงเมือง หรือคนที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม จะได้ไม่มีที่ยืนในสังคม
และอยากเรียกร้องให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้โปรดช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนให้บรรลุจุดมุ่งหมายสุดท้ายก็คือ ให้ “ประเทศไทยใสสะอาด ปราศจากคอร์รัปชั่น”
รวมทั้งเพื่อให้คนไทยเราทุกคนเป็นคนดีมีคุณธรรม ซึ่งจะทำให้สังคมของคนทั้งชาติเป็นสังคมที่สงบ อบอุ่นและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
วันนี้มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกเกี่ยวกับคนบางคน เพราะแม้ท่านเหล่านั้นมีหน้ามีตาในสังคม แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าบุคคลผู้นั้นน่าจะมีคุณธรรมจริยธรรมมากกว่านี้
“มีหน้ามีตาในสังคม” อย่างไร ก็มีหน้ามีตาซิครับ เพราะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบางคณะซึ่งเรียกกันว่า “บอร์ด” นั่นแหละครับ ย่อมเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีหน้ามีตาในสังคม ไม่งั้น เขาก็คงไม่ตั้งให้เป็นบอร์ดหรอกครับ
ดังนั้น คำว่า “กรรมการ” ในบทความนี้ จึงหมายถึงเฉพาะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบอร์ด หรือที่มีกฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดคุณสมบัติการได้รับการสรรหาหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้เท่านั้น ไม่รวมคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยทั่วไป
เพราะกรรมการบางท่านเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “บอร์ด” ปัจจุบันไม่มีคุณสมบัติหรือขาดคุณสมบัติที่จะเป็น “บอร์ด” แล้ว แต่ก็ยังนั่งเป็นบอร์ดอยู่ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะเบี้ยประชุมที่ได้รับในแต่ละครั้งหรือแต่ละเดือนนั้นค่อนข้างสูง
หรือไม่ก็อาจรอให้ผู้มีอำนาจสั่งปลด เพราะกรรมการผู้นั้นไม่มีคุณธรรมจริยธรรมเพียงพอที่จะลาออกด้วยตนเอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ ๒ ตัวอย่าง นะครับ เช่น คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้กำหนดไว้ว่า กรณีที่หนึ่ง “ต้องไม่เป็นข้าราชการเมืองหรือเป็นกรรมการพรรคการเมือง” หรือกรณีที่สอง “ไม่เคยต้องโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
สำหรับกรณีแรกนั้น ก่อนการสรรหาไม่ได้เป็นข้าราชการเมืองหรือเป็นกรรมการพรรคการเมือง แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ภายหลังได้เป็นข้าราชการการเมืองหรือเป็นกรรมการพรรคการเมือง
ตามกฎหมายหรือข้อบังคับยังเป็นกรรมการอยู่ได้นะครับ แต่ในทางปฏิบัติควรจะเป็นต่อไปหรือควรจะลาออกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้น
สำหรับกรณีที่สองก็เช่นกัน ก่อนการสรรหาไม่เคยต้องโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่เมื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ต้องโทษโดยคำพิพากษาให้จำคุก
แม้เป็นเพียงคำตัดสินของศาลชั้นต้น และกฎหมายหรือข้อบังคับไม่ได้ห้ามไม่ให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจบางท่านก็ลาออกแล้วครับ
ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่กฎหมายหรือข้อบังคับหรอกครับ แต่เป็นเรื่องของการสร้างจิตสำนึกกันมากกว่าว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควร ใช่ไหมครับ
พุธทรัพย์ มณีศรี
(เผยแพร่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ : OK Nation Blog)