ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมาก็เยอะ มิใช่อะไรหรอกครับ เพราะผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และเป็นกรรมการมูลนิธินี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
จากประสบการณ์ทั้งที่สำนักงาน ก.พ. และการเป็น อ.ก.พ. กระทรวง และ อ.ก.พ. กรม หลายต่อหลายแห่ง ได้เห็นพฤติกรรมของข้าราชการที่ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมาก็เยอะ
ดังนั้น จึงมีเรื่องให้เขียนถึงพอสมควร บทความครั้งสุดท้ายที่ได้เขียนในคอลัมน์นี้ คือเรื่อง “แล้วฝีที่ระบมมานาน ก็เริ่มแตกแล้ว” เมื่อวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ (http://oknation.nationtv.tv/blog/puthsup-govservice/2018/02/21/entry-1)
สิ่งที่ยังไม่เคยย้ำในบทความแต่ละเรื่องก็คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการคือหัวหน้าหน่วยงานบางหน่วยไม่ได้รับการพัฒนาหัวหน้างานบางคนชอบคอร์รัปชั่น กินเศษกินเลยและกินคำโตมาตลอด แต่อีกหลายท่านก็ไม่ได้มีนิสัยในการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพียงแต่เหตุที่มีการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเกิดจากระบบราชการของเราเอง เพราะหัวหน้างานหลายคนที่เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานที่ไปปฏิบัติงานในในส่วนภูมิภาค แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมและพัฒนามาตามขั้นตอนของแต่ละส่วนราชการ แต่หัวหน้างานที่ได้รับแต่งตั้งใหม่นี้ ยังไม่เคยได้รับการติวเข้มให้ได้รับรู้และรับทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้างานเฉพาะด้านนั้น ทั้งเรื่องการบริหารงานบุคคล การเงิน การคลังและการพัสดุ
ส่วนใหญ่หัวหน้างานคนเดิมปฏิบัติไว้อย่างไร ก็จะปฏิบัติไปตามนั้น โดยบางครั้งไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ปฏิบัติต่อๆ กันมานั้น ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือไม่ เหมือนวลีที่คนบางคนเคยกล่าวว่า “บกพร่องโดยสุจริต” ซึ่งหมายถึง “บกพร่องแต่ไม่ได้ทุจริตหรือเป็นความผิดโดยไม่เจตนา” นั่นแหละครับ แต่ความบกพร่องในบางเรื่องนั้น เป็นความผิดทางวินัย ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นเรื่องการเงินก็กลายเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงอีกด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ หัวหน้าหน่วยงานบางคนคิดว่าการหักเงินในโครงการต่าง ๆ เข้าเป็นสวัสดิการส่วนกลางร้อยละ ๕ แล้วนำเงินนั้นมาจัดให้เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหรือใช้จ่ายในการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนในหน่วยงานนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงการกระทำดังกล่าวนั้น ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ข้าราชการผู้ใดที่ได้กระทำเช่นนั้นตรวจพบเมื่อใดก็มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงเมื่อนั้น โทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการทันทีครับ หากหัวหน้าหน่วยงานผู้ใดที่ยังกระทำดังกล่าวแล้วข้างต้น ก็หยุดการกระทำนั้นเสียโดยด่วนที่สุดนะครับ แล้วก็ตั้งใจภาวนาว่าอย่าให้ผู้ใดได้รู้ ได้เห็น และได้ตรวจพบการกระทำที่ผ่านมา ในระหว่างนี้ก็จงรับกรรมจากการกระทำนั้นๆ ไว้ไปพลางก่อนนะครับ เพราะผู้ใดที่ทำความผิดไว้ แม้ว่ายังไม่มีผู้ใดตรวจพบ แต่ผู้ที่ทำกรรมไว้นั้นนึกถึงเรื่องนั้นๆ ครั้งใดก็ย่อมทุกข์ใจไปทุกครั้ง ส่วนราชการต่างๆ ก็คงต้องปรับปรุงการพัฒนาข้าราชการเสียใหม่ เพราะสิ่งที่ได้กระทำอยู่ทุกวันนี้ไม่เพียงพอแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน แม้ว่าข้าราชการผู้นั้นจะผ่านหลักสูตรใดๆ มาแล้วก็ตาม ก็ต้องนำมาติวเข้มกันอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานในลักษณะดังกล่าวนั้นโดยตรงแน่นอน ส่วนราชการแต่ละแห่งจะต้องรวบรวมปัญหา ช่องทางการทุจริตหรือข้อบกพร่องต่างๆ ของหน่วยงานประเภทนี้ในอดีตไว้แล้ว แต่หากยังไม่มีก็เริ่มทำได้แล้ว และในการอบรมหัวหน้างานใหม่ จะต้องย้ำเตือนให้หัวหน้างานใหม่ได้ระวังอย่างเต็มที่ ที่จะต้องไม่ทำความผิดในอดีตอีก รวมทั้งแนะนำสิ่งดีๆ ที่ควรทำด้วย
อย่าลืมว่าตอนนี้ประชาชนเริ่มเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการเหมือน “ตาสับปะรด” กันแล้ว รัฐบาลก็มีมาตรการใหม่ที่เป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ เพราะนอกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระบบราชการขึ้นแล้ว และคณะรัฐมนตรียังได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดและได้แจ้งเวียนให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบและถือปฏิบัติแล้ว โดยหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๕/๑๖๕ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ดูแผ่นภาพซึ่งกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงาน ป.ป.ท. ได้จัดทำไว้ซิครับ อ่านง่ายดีด้วย ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจมากขึ้น ก็ขออนุญาตสำนักงาน ป.ป.ท. นำลงไว้ในบทความนี้ด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ มาตรการนี้นอกจากเร่งรัดให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาแก่ผู้ทุจริตคิดมิชอบให้รวดเร็วฉับไวแล้ว ยังให้สั่งย้ายให้ออกจากตำแหน่งนั้นและไม่ให้กลับมาดำรงตำแหน่งในลักษณะดังกล่าวภายใน ๓ ปี ผู้ที่ปฏิบัติงานล่าช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือหรือทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ก็ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นด้วยประชาชนผู้พบเห็นการทุจริตและประพฤติมิชอบก็ช่วยเป็นเบอะแสให้ทางราชการด้วย เพราะมาตรการนี้ได้ให้ความคุ้มครองพยานหรือผู้ที่ให้ข้อมูลเบาะแสในการตรวจสอบ ที่สนใจและชอบมากเป็นพิเศษก็คือมีมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อข้าราชการที่จงใจให้ข้อมูลเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้มีการดำเนินการที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลอื่น จะได้ช่วยขจัดข้าราชการที่ชอบร้องเรียนหรือฟ้องร้องบุคคลอื่นโดยจงใจให้ข้อมูลเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลจะได้หมดไปจากราชการไทยเสียที ทั้งยังจะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนกันเสียที แวดวงราชการจะได้สะอาดขึ้น และก็ทำให้ประเทศไทยใสสะอาดขึ้นด้วย
พุธทรัพย์ มณีศรี
(เผยแพร่ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๑ : OK Nation Blog)