เมื่อวานนี้ (วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐
เนื่องจากการประชุมในวันดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้มีหนังสือเชิญเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการ ป.ป.ท. โดยตำแหน่ง จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยขั้นตอนวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบให้มติที่ประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ในเรื่องดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติในการประชุมพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ท. ในวันดังกล่าว จึงเป็นการประทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย .
ครับ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางคงจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการประชุมทุกท่าน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ เลขานุการหรือประธานกรรมการต้องตระหนักและปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
จากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น ทำให้นึกไปถึงเหตุการณ์ที่ผู้เขียนยังรับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาระบบราชการ (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งานบุคคล ๑๐) สำนักงาน ก.พ. โดยที่ ก.พ. กำหนดว่าในการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร ๑๐ ซึ่งในปัจจุบันคือนักบริหารสูงหรือตำแหน่งอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกระทรวงนั้น ต้องให้คณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วยกรรมการ ๕ คน หนึ่งในนั้นคือผู้แทน ก.พ.
ก.พ. ได้แต่งตั้งให้ที่ปรึกษาระบบราชการซึ่งมีหลายคนเป็นผู้แทน ก.พ. ในคณะกรรมการคัดเลือกนักบริหารสูง โดยที่ปรึกษาระบบราชการคนหนึ่งเป็นผู้แทน ก.พ. (ตัวจริง) ส่วนที่เหลือเป็นผู้แทนสำรอง
กรณีที่ที่ปรึกษาระบบราชการที่เป็นผู้แทน ก.พ. มีเหตุจำเป็นไม่อาจไปประชุมได้เพราะเหตุใดก็ตาม ผู้แทนสำรองคนต่อๆ ไป ก็ต้องไปประชุมแทน ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้แจ้งทางปฏิบัติให้ทุกกระทรวงทราบแล้ว เหตุเกิดเมื่อกระทรวงหนึ่งจัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจราชการกระทรวง แต่เห็นว่าผู้แทน ก.พ. เกษียณอายุราชการแล้ว จึงไม่ได้เชิญผู้แทนสำรองไปร่วมประชุมด้วย
ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้แทนสำรองได้รับทราบผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในการแต่งตั้งข้าราชการดังกล่าว ซึ่งตรวจสอบแล้วสำนักงาน ก.พ. ไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุม
จึงได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงนั้นทราบว่าการประชุมดังกล่าวไม่ถูกต้อง พร้อมกับประสานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อรอการนำความขึ้นกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไว้ก่อน
เมื่อกระทรวงนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกใหม่ โดยมีเป็นผู้แทน ก.พ. ร่วมประชุมด้วย จึงได้มีมติ “สวดยัตติ” มติคัดเลือกดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ผู้เขียนนั้นมีประสบการณ์ในเรื่องการประชุมมาก เพราะเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ เลขานุการ กรรมการและประธานกรรมการ ปัจจุบันก็ยังเป็นกรรมการอยู่ในหลายคณะหลายหน่วยงาน
ได้เห็นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ ของเลขานุการ รวมทั้งของประธานกรรมการ รวมทั้งได้รับทราบจากเพื่อนกรรมการท่านอื่นด้วย ทราบว่าบางครั้งก็ไม่เชิญกรรมการบางคนเข้าร่วมประชุม
อาจเป็นการหลงลืม เผลอเลอ หรืออาจมีเจตนาที่ไม่ต้องการให้กรรมการผู้หนึ่งผู้ใดไปร่วมประชุมด้วย ก็ไม่อาจทราบได้
ในกรณีที่มีเจตนาไม่ต้องการให้กรรมการผู้นั้นไปร่วมประชุม เพราะอาจทราบลักษณะส่วนบุคคลของกรรมการท่านนั้นดีว่าเรื่องที่นำเสนอพิจารณาในวันนั้น กรรมการผู้นั้นต้องคัดค้านอย่างแน่นอน
บางกรณีก็เชิญครับ แต่เชิญโดยทางโทรศัพท์ก่อนการประชุมเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือลวงหน้าเพียงวันเดียว ซึ่งไม่อาจไปร่วมประชุมได้ เพราะไปประชุมไม่ทันหรืออาจมีภารกิจอื่นอยู่แล้ว
กรณีการประชุมนี้บางหน่วยงานได้กำหนดเป็นข้อบังคับไว้ เช่น การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 เป็นต้น
ข้อบังคับของหลายหน่วยงานเท่าที่ทราบมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การเรียกประชุมให้ประธานเป็นผู้เรียกประชุม 2) การเชิญประชุมต้องทำเป็นหนังสือ และ 3) กำหนดจำนวนวันที่ต้องแจ้งกรรมการล่วงหน้า เป็นต้น
ก็ไม่ทราบว่าส่วนราชการทุกแห่งมีระเบียบหรือข้อบังคับในการประชุมไว้หรือไม่ หากยังไม่มีก็ควรจัดทำไว้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องจะได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
และเพื่อไม่ให้ต้องขึ้นศาลปกครองหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีหนังสือไปชี้แจงให้ดำเนินการให้ถูกต้องเช่นเดียวกับกรณีที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
สุดท้ายที่อยากเน้นก็คือหากเจ้าหน้าที่ผู้ใดจงใจไม่เชิญกรรมการท่านใดท่านหนึ่งเข้าร่วมประชุม นอกจากเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจได้รับโทษทางวินัยแล้ว
ยังอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอีกด้วย เพราะหากเป็นกรณีการเลื่อนตำแหน่งซึ่งได้รับค่าตอบแทนใหม่ไปแล้ว ย่อมต้องคืนเงินหรือค่าตอบแทนที่ไม่ควรได้รับนั้น
พุธทรัพย์ มณีศรี
(เผยแพร่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ : OK Nation Blog)