ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการประชุมมาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกเขียนเรื่องการประชุมที่ไม่เชิญกรรมการท่านหนึ่งเข้าประชุม
ศาลปกครองได้พิพากษาให้เพิกถอนมติคณะกรรมการนั้น เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามกฎหมาย ส่วนตอนที่สองนั้นกล่าวถึงการเชิญกรรมการคนหนึ่งให้ออกจากห้องในการพิจารณาวาระหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลทั้งๆ ที่กรรมการท่านนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในวาระที่พิจารณา
เรื่องนี้ยังไม่ถึงศาลปกครองครับ แต่ผู้เขียนซึ่งไม่ได้เป็นนักกฎหมายแต่ฟันธงว่าเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอนมติดังกล่าว
สองเรื่องข้างต้นนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการทุจริต แต่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เรื่องที่เขียนในวันนี้เกี่ยวข้องกับที่ประชุมเช่นกันครับ แต่เข้าข่ายทุจริตครับ เมื่อทำแล้วก็จะตายผ่อนส่ง ตายผ่อนส่งอย่างไรก็กรุณาติดตามได้ครับ
เรื่องนี้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวถูกปลดออกหรือถูกไล่ออกจากราชการได้ เพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลาในการพิมพ์เมื่อผู้เขียนเขียนคำว่า “ข้าราชการ” ขอได้โปรดเข้าใจว่าหมายความถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ด้วยนะครับ
ข้าราชการส่วนใหญ่ต้องได้รับการอบรม สอนกันหรือบอกกล่าวกันต่อๆ มาว่า การรับเงินจากทางราชการนั้น ห้ามรับเงิน ๒ ทาง ในเรื่องเดียวกันและขณะเดียวกัน เพราะถือเป็นการรับเงินซ้ำซ้อนและหากกระทำก็เรื่องการทุจริตด้วย
ดังนั้น การรับเงินเดือน ๒ ทาง จึงไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายนะครับไม่ใช่ระเบียบที่กำหนดกันขึ้นเอง
แต่ข้าราชการบางแห่งอาจไม่ได้รับการอบรม สั่งสอนหรือบอกกล่าวเช่นนั้น หรืออาจไม่ได้สนใจที่จะศึกษา หรืออาจโลภอยากได้ มีเรื่องมีราวขึ้นมาก็อาจพูดประโยคที่ยังฮิตอยู่เสมอว่า “บกพร่องโดยสุจริต”
อย่าเพิ่งงงครับ ผู้เขียนกำลังเขียนถึงการเบิกจ่ายค่ายานพาหนะในการเดินทางของข้าราชการที่ไปประชุมที่ส่วนราชการอื่น หลายหน่วยงานมีรถส่วนกลางไว้บริการข้าราชการ เมื่อมีความจำเป็นต้องเดินทางไปหน่วยงานอื่นในกรณีที่ต้องเดินทางไปราชการ ซึ่งรวมถึงการเดินทางไปประชุมของทางราชการที่หน่วยงานอื่นด้วย แต่บางครั้งหน่วยงานที่จัดการประชุมก็อาจจัดรถไปรับข้าราชการของหน่วยงานอื่นที่มาประชุมในหน่วยงานของตนก็มี กรณีทำนองนี้นี้ไม่มีปัญหาเพราะหากส่งรถไปรับกรรมการมาประชุมแล้วก็จ่ายเฉพาะเบี้ยประชุมนั้น ส่วนค่ายานพาหนะในการเดินทางไม่ต้องจ่ายให้อีก แต่หากหน่วยงานนั้นไม่มีรถไปรับกรรมการ ก็ต้องเตรียมเบิกค่ายานพาหนะไว้ให้ โดยไม่ได้สนใจว่ากรรมการท่านนั้นเดินทางมาประชุมด้วยยานพาหนะชนิดใด เป็นรถส่วนตัวหรือรถราชการหรือไม่
ข้าราชการที่เดินทางไปด้วยรถราชการส่วนกลางของหน่วยงานที่สังกัดอยู่ รู้ระเบียบของทางราชการดีอยู่แล้วก็ไม่รับเงินค่าพาหนะในการเดินทางจากหน่วยงานที่ไปประชุม เพราะหน่วยงานของตนได้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แล้ว หากรับเงินค่าพาหนะจากหน่วยงานที่ไปประชุมอีก ก็คล้ายๆ กับการรับเงิน ๒ ทาง ทางหนึ่งคือจากหน่วยงานที่สังกัดและอีกที่หนึ่งคอหน่วยงานที่จัดประชุม เป็นการรับเงินค่ายานพาหนะที่ไม่สมควรได้ และนี่คือการโกงหลวงครับ
ส่วนข้าราชการที่เดินทางไปประชุมด้วยรถส่วนตัวหรือรถรับจ้างก็เบิกจ่ายค่าพาหนะได้ตามระยะทางหรือตามที่จ่ายจริงแล้วแต่กรณี แต่หากข้าราชการผู้ใดไม่ทราบระเบียบ (ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้) หรือทราบแต่ไม่ปฏิบัติตามเพราะอยากได้เงินค่าพาหนะในการเดินทางนั้นก็เจอข้อหาทางวินัยทันที เพราะถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น
ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ทุจริตเรื่องการเงินนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โทษมีเพียง ๒ สถาน เท่านั้น คือปลดออก ซึ่งได้รับบำเหน็จบำนาญ และไล่ออกซึ่งไม่ได้รับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น และอาจเจอข้อหาอาญาด้วย หากข้าราชการผู้ใดได้เดินทางไปด้วยรถราชการแล้วรับเงินค่าพาหนะไปแล้วนี่ซิครับ เป็นปัญหาใหญ่แล้วครับ นึกแล้วให้เสียวไส้แทน
จะทำอย่างไรตอนนี้ก็สายไปเสียแล้วครับ ทำอะไรไม่ได้แล้วจริงๆ เพราะมีหลักฐานเรียบร้อยแล้วทุกอย่างทั้งหลักฐานการใช้รถราชการและหลักฐานการเบิกค่าพาหนะ
ตอนนี้ก็ตายผ่อนส่งไปก่อน ตายแบบยังมีลมหายใจครับ คือรับกรรมทางใจไปก่อน ทุกข์ซิครับ ตอนนี้ก็ใจตุ้มๆ ต่อมๆ ไปก่อน นึกภาวนาเข้าไว้นะครับ
หากมีใครร้องเรียนหรือทางราชการตรวจสอบพบการดำเนินการทางวินัยจะเริ่มขึ้นทันทีครับ
ดังนั้น ก็ขอให้รับกรรมโดยดุษฎีเถิดครับ
สำหรับข้าราชการที่ยังไม่เคยทำก็อย่าริทำเลยนะครับ พระท่านเคยสอนว่ากรรมติดจรวด แต่กรรมสมัย ๔.๐ นี่มาเร็วกว่านั้นครับ เพราะมาทางอินเตอร์เน็ต
ดังนั้น ข้าราชการทั้งหลาย โปรดอย่าสนใจกับค่าพาหนะในการเดินทางเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรได้เลยนะครับ นอกจากทำให้เสียอนาคตเปล่าๆ แล้ว ยังต้องทุกข์ใจไปด้วย เตือนกันไว้ด้วยความรักจริงๆ ครับ
พุธทรัพย์ มณีศรี
(เผยแพร่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ : OK Nation Blog)