กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ

ประชาชนช่วยให้คอร์รัปชั่นลดลงได้
บทความใสสะอาด
26 ตุลาคม 2565
ผู้เข้าชม 161 คน

     การทุจริตและประพฤติมิชอบหรือการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นมานานแล้วและก็ยังเกิดขึ้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน หลายท่านได้เปรียบการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือการคอร์รัปชั่นว่าเสมือนมะเร็งร้าย

        ส่วนราชการใดก็ตาม หากหัวหน้าส่วนราชการไม่ทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่คอร์รัปชั่นเสียเอง ข้าราชการในส่วนราชการนั้น ก็ไม่กล้าทุจริตหรืออาจทุจริตกันน้อยมาก เข้าทำนองสุภาษิตไทยที่ว่า "หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก" นั่นแหละครับ แต่หากตรงกันข้าม คือหัวหน้าส่วนราชการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือคอร์รัปชั่นเสียเอง ข้าราชการในส่วนราชการนั้น ก็อาจร่วมทุจริตหรือกล้าทุจริตกันมากขึ้น ซึ่งหากเป็นประการหลัง การตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือการคอร์รัปชั่นก็กระทำได้ยากขึ้น

        นอกจากนั้น การตรวจสอบกันเองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำกันในบางแห่ง ดังสุภาษิตไทยที่กล่าวไว้ว่า "แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน" ดังนั้น หากมีผู้ที่ให้การช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็อาจจะช่วยให้การทุจริตและประพฤติมิชอบหรือการคอร์รัปชั่นลดน้อยลง โชคดีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้ส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนที่ช่วยในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยได้บัญญัติไว้ว่า "รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริม ให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง จากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ"

        ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.....ตามมาตรา ๖๓ แล้ว ทั้งนี้ เพื่อกำหนดกลไกการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๓ ดังกล่าว ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคต่างๆ รวม ๕ ครั้ง มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์ ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการมูลนิธิ คณะกรรมการจริยธรรมของส่วนราชการต่างๆ และภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ รับทราบและแสดงความเห็นเพิ่มเติม จึงได้ร่วมกันจัดประชุมระดมปัญญา เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจัดขึ้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์ต้านโกง สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก ในระหว่างวันที่ ๒๘ -๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ เสียดายที่ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมด้วยเพียงวันแรก เท่านั้น

        การประชุมเริ่มจาก นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุม หลังจากนั้น เป็นการอภิปรายกลุ่ม โดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต คุณรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ รักษาการผู้ปฏิบัติการศูนย์ประชาธิปไตยและพลเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร. สมโภชน์ นพคุณ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ได้อภิปรายถึงเจตน์จำนงแห่งรัฐที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนส่งเสริมให้ประชาชนมีพลังต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นตามมาตรา ๖๓ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ที่จะเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยที่ดี ตระหนักรู้และรักษาสิทธิ์ของตนเป็นผู้ใช้สิทธิที่ดีและถูกต้องด้วยการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และภาระหน้าที่ของตน รวมทั้งมีความเป็นพลเมืองของรัฐโดยสมบูรณ์

ดังนั้น จึงต้องคุ้มครองจากการใช้สิทธิโดยไม่ให้มีภยันตรายมากล้ำกลาย โดยคุ้มครองการถูกฟ้องให้ความผิดอาญา หรือในทางแพ่งฐานหมิ่นประมาท เพื่อปิดปากมิให้แจ้งเบาะแสหรือรายงานต่อรัฐในกรณีทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งได้รับการเยียวยาความเสียหายหากถูกข่มขู่ คุกคามหรือก่อให้เกิดความเสียหายจากกรณีแจ้งเบาะแสการทุจริตคอรัปชั่น คุณรสนา โตสิตระกูล ได้อภิปรายถึงประสบการณ์ตรงในการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอรัปชั่นหลายเรื่อง โดยกล่าวว่าเป็นนักทดลองเครื่องมือ เพราะประชาชนไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบ บางเรื่องก็ไม่อาจดำเนินการได้เพราะถือว่าประชาชนผู้ตรวจสอบไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง

        นอกจากนั้น ยังมีความยากลำบากในการหาข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง แม้จะมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แล้วก็ตาม ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ ได้เริ่มต้นว่า ประชาชนทุกคนเข้าใจความหมายของการทุจริตมากน้อยเพียงใด และระดับของการทุจริตก็ยากเกินไปที่ประชาชนจะรับรู้ได้การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นสำคัญที่กระบวนการมากกว่าเป้าหมาย และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐยังมีปัญหา คือยากและช้ายังไม่มีพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมให้ผู้กล้า (Active Citizen) ได้แสดงออก รวมถึงไม่ได้คุ้มครองผู้กล้าด้วย หลังจากนั้น ได้แยกประชุมกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม เพื่อพิจารณาใน ๓ เรื่อง โดยกลุ่มที่ ๑ และกลุ่ม ๒ เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มที่ ๓ เรื่อง งานอาสาเฝ้าไทยใสสะอาด (whistle blower, Watch dog) และกลุ่มที่ ๔ เรื่อง ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน

    สำหรับในวันที่ ๒๙ มิถุนายน นั้น เป็นการวิพากษ์ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และนายทวีสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ก็หวังว่าผลการประชุมระดมปัญญาในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการยกร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.....ของสำนักงาน ป.ป.ท. ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อันเป็นการจูงใจให้มีประชาชนผู้กล้ามากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อประเทศไทยจะได้ใสสะอาดเสียที

พุธทรัพย์ มณีศรี
(เผยแพร่ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ : OK Nation Blog)

บทความใสสะอาด ที่เกี่ยวข้อง
Hover Icon
บทความใสสะอาด
ตามไปดูลูกสาวของแผ่นดินที่สงขลา
14 กุมภาพันธ์ 2566
245
Hover Icon
บทความใสสะอาด
คืนคุณภาพสู่ห้องเรียน
06 กุมภาพันธ์ 2566
1,781
Hover Icon
บทความใสสะอาด
จริยธรรมข้าราชการพลเรือน
06 กุมภาพันธ์ 2566
819
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว

การตั้งค่าคุกกี้