กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ

แพทย์ที่ดีไม่ต้องรวยก็มีความสุขได้ นพ.เจริญ เสรีรัตนาคร แพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๒
บทความใสสะอาด
26 ตุลาคม 2565
ผู้เข้าชม 166 คน

​    “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” “ความสำเร็จของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีความรู้มาก แต่ขึ้นอยู่กับการนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้มากเพียงไร”

“ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นเพียงหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วย”

    ๑ ข้อความข้างต้นเป็นพระราชปณิธานและพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์พระราชบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย และองค์พระราชบิดาแห่งสาธารณสุขไทย ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ส่วนใหญ่น้อมนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึง “นายแพทย์เจริญ เสรีรัตนาคร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๒ ซึ่งมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี โดยในประเทศไทยมีเพียง ๒ สถาบันเท่านั้น ที่มีรางวัลสำหรับแพทย์ชนบทดีเด่น นั่นคือ รางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และมูลนิธิแพทย์ชนบท สำหรับ ศิริราชฯ มอบให้ปีละ ๑ รางวัล แต่มูลนิธิแพทย์ชนบทปีละ ๒-๓ รางวัล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอุทิศตัวของแพทย์

“โคราชรายวัน คนอีสาน” จึงสนทนากับ นายแพทย์เจริญ เสรีรัตนาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ

    นายแพทย์เจริญ กล่าวว่า ตั้งแต่เรียนจบก็เข้ารับราชการเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลา ๒๕ ปี หลักการทำงานที่ยึดถือมาตลอด คือ คิดเสมอว่าต้องพยายามทำให้ดีที่สุดและทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพราะเราต้องให้โอกาสคนที่อยู่ในชนบทที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนยากจน ปกติแล้วเขาก็มีโอกาสในการรักษาที่ดีน้อยกว่าคนในเมือง และหมอที่จะให้บริการคนในชนบทก็มีน้อย จึงต้องการเป็นกำลังช่วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีหลักในการใช้ชีวิตอีกอย่างหนึ่งที่ยึดถือมาตลอด คือ “ความสุขไม่ได้อยู่ที่เงิน” หมายถึงเราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมาก มีเงินแค่พออยู่พอกินก็เพียงพอแล้ว ผมมีความคิดแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มเรียนหมอแล้วว่าไม่อยากเปิดคลินิก ใช้แต่เงินเดือนหลวงทำงานเฉพาะที่โรงพยาบาลไม่มากไม่น้อย พออยู่พอกินได้ ซึ่ง ผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนชีวิตของแต่ละคนด้วย เมื่อคิดวางแผนชีวิตไว้สูงก็จำเป็นต้องดิ้นรนต่อไป ถ้าวางแผนไว้ไม่ถูกก็จะไม่รู้จักพอ วิ่งไปมากๆ ก็เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีความสุขหรือเปล่า ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยมากขนาดนั้น

    “ผมคิดว่าเกิดมาเป็นคนธรรมดา ถ้าเราคิดอยากช่วยเหลือผู้อื่นเราก็ช่วย เพราะการช่วย เหลือผู้อื่นที่เป็นทุกข์ก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ทำแล้วสุขใจมีความสุขที่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ทำให้รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่ามากขึ้น อีกทั้งไม่เคยคิดว่าต้องรวยมาก เพราะเราทุกคนต้องหาความสุข แต่เราต้องมองให้ออกว่าอะไรคือความสุข ผมเคยเห็นหมอบางคนทำงานหนักมากจนลืมเวลา อีกไม่นานก็เกษียณ หรือไม่ก็เสียชีวิตก่อน เพราะอายุของแพทย์คงจะประมาณ ๖๐ ปี เนื่องจากทำงานหนักและเป็น กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคมาก ต้องทำงานอยู่กับเชื้อโรค การเสียชีวิตอาจเกิดจากร่างกายทำงานหนักเกินไป เพราะฉะนั้น หาเงินไปเยอะๆ ก็อาจจะไม่ได้ใช้ ดังนั้น การวางแผนชีวิตแบบนี้อาจเป็นการหลงทางเปล่าๆ”

    นอกจากจะทำงานด้านการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนแล้ว นพ.เจริญ ยัง เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาและวางระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในโรงพยาบาล ๑๘ อำเภอในจังหวัดอุบลราช ธานี ซึ่งส่งผลให้การบริการรักษาพยาบาลรวด เร็วขึ้น เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดเป็นการจัดเก็บไปไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ทั้ง ประวัติผู้ป่วย การแพ้ยา ทั้งยังช่วยให้การจ่ายยาแม่นยำมากขึ้น จากการสอบถามถึงที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ นพ.เจริญ กล่าวว่า “เกิดจากผมมีโอกาสทำงานศึกษาวิจัย ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการประเมินผลและเขียนรายงาน จึงทำให้เกิดความชำนาญด้านการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น และเล็งเห็นว่าโรงพยาบาลใช้คอมพิวเตอร์ได้ไม่คุ้มกับประสิทธิภาพ จึงเกิดความคิดพัฒนาโปรแกรมใช้ในโรงพยาบาล เพราะการให้บริการในปัจจุบัน ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำที่สุด การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ก็เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน และนำมาพัฒนาใช้กับโรงพยาบาลต่อ ซึ่งในช่วงเริ่มแรกที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาก็มีปัญหาบ้าง เพราะบุคลากรยังไม่คุ้นเคย จึงต้องเตรียมการฝึกอบรม เตรียมฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อม และทดลองใช้ระบบกระทั่งเกิดความชำนาญ และผ่านพ้นปัญหามาได้”

    เมื่อถามนายแพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๒ ว่า เหตุใดจึงไม่เลือกทำงานในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญ นพ.เจริญ ตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจว่า “ผมเป็นคนคิดนอกกรอบ เพราะผมไม่กลัวต่อความยากลำบาก คนเราคิดอะไรก็ทำแบบนั้น ไม่เห็นจำเป็นว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องอยู่เมืองใหญ่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องรวย ผมมีความสุขที่ได้ให้บริการคนในชนบท ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าถึงบริการ ซึ่งผมก็มีความสุขดีไม่กลัวว่าจะห่างจากกระแส หรือถูกจัดให้เป็นหมอชั้นสอง แบบที่คนส่วนใหญ่เขากลัวกัน คำว่าห่างกระแส คือ การไม่ไปเรียนต่อ ไม่ไปทำงานในเมืองใหญ่นั่นเอง ซึ่งผมมองว่าปัจจุบันเด็กยุคใหม่หรือหมอยุคใหม่ มักยึดติดกับกระแสการเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าเดิม เพื่อให้ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และส่วนใหญ่เรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ หรือ ไม่ก็ภาคเอกชน ทำให้อัตราของแพทย์ชุมชนมีน้อยลงทุกที ในขณะที่ความต้องการด้านการบริการรักษาสุขภาพของประชาชนมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นที่โรงพยาบาลวารินชำราบ ขณะนี้มีแพทย์เพียง ๑๑ คนเท่านั้น ถ้าถามต่อว่าเพียงพอต่อการบริการหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่เพียงพอ เพราะประชาชนที่เจ็บป่วยเข้ามารับบริการ กับ โรงพยาบาลทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เมื่อแพทย์มีน้อย การทำงานก็ต้องหนักขึ้น แต่ถ้ามีแพทย์เพิ่มขึ้นการทำงานก็จะกระจายและแบ่งเบาหน้าที่กันได้บ้าง ผมทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมาตลอด และไม่เคยคิดที่จะย้ายออกไปทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือศึกษาต่อ เพราะคิดว่าความรู้ที่เรียนมาและมีอยู่ยังใช้ไม่หมด อีกทั้งยังเห็นว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่นี่ในทุกวันจะมีคุณค่ามากกว่า และยังช่วยประชาชนในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับบริการรักษาที่ทั่วถึง ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขในการทำงาน”

    นพ.เจริญ กล่าวต่อไปว่า ถ้าเราอยากแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์ชุมชน หรือ แพทย์ชนบท ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ ที่มีความประสงค์จะประกอบวิชาชีพทางด้านนี้ คือปลูกฝังความคิดให้แพทย์ทุกคนตระหนักว่า แพทย์ที่ดีไม่จำเป็นต้องรวย เพราะสิ่งสำคัญของอาชีพ คือการให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามปกติ ต้องไม่ตามกระแสสังคมมากนัก ปัญหาที่ทำให้แพทย์ไม่อยากมาทำงานในชนบทตามความคิดของผม คิดว่าอาจมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการละทิ้งความสะดวกสบายมา ทำงานในชนบท ตามสถานที่ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเหมือนกับเมืองใหญ่ หรือค่าตอบแทนที่ได้รับน้อยกว่าการทำงานในเมือง ซึ่ง ถ้าเราคิดตามปัจจัยที่กล่าวมา อาจทำให้เป็นคนไม่รู้จักพอ เราต้องพอใจกับสิ่งที่เรามี อีกส่วนที่ต้องช่วยผลักดันคือสังคม เพราะถ้าสังคมมองเห็นปัญหาแล้วไม่ช่วยผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา ปล่อยทุกอย่างเลยตามเลย สังคมไทยก็จะประสบปัญหาไปตลอด ปัญหาที่ต้องแก้คือ ต้องเปลี่ยนความคิดให้แพทย์ยุคใหม่มาอยู่ในชนบทมากขึ้น เพราะอัตราของหมอในเมืองกับชนบทแตกต่างกันมาก แต่จำนวนประชาชนที่หมอต้องดูแลมีจำนวนเท่าๆ กัน ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคขึ้น เมื่อทราบว่าเกิดปัญหาแบบนี้แล้วก็ควรแก้ไข เพราะถ้าปล่อยไปตามกระแส จำนวนแพทย์ชุมชนก็จะยิ่งลดลง ส่วนคนที่จะ เข้ามาเป็นแพทย์ก็ควรคิดใหม่ ควรตั้งความหวังว่าต้องการช่วยคน เราคิดอยากช่วยเหลือคนจึงมาเป็นแพทย์ ผมอยากให้แพทย์รุ่นใหม่คิดแบบนี้เพื่อความสุขในชีวิตตัวเอง

    เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น นพ.เจริญ ให้คำตอบว่า “ผมรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปีนี้ ซึ่งทีมงานของผมก็ดีใจกับรางวัลนี้ด้วย กรรมการที่คัดเลือกคงคำนึงถึงทีมงานด้วย และ ทีมงานโรงพยาบาลวารินชำราบที่ให้บริการประชาชนก็มีผลงานที่ดีพอสมควรจึงได้รับเลือก อยากให้น้องๆ แพทย์ชนบทได้เห็นว่า ปัจจุบันแพทย์ชนบทได้รับการยอมรับจากสังคมและมีเกียรติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่จะทำให้เขาอยากอยู่ในชนบทต่อไป สิ่งสำคัญคือ ประชาชนในชนบทต้องเข้าใจว่า แพทย์ชนบทคือแพทย์ที่เสียสละอย่างเต็มที่ ทั้งชีวิตที่สะดวกสบาย รายได้ดีๆ และการอยู่ในเมืองใหญ่ โอกาสที่จะเป็นไปตามกระแสทุนนิยม ซึ่งนับเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะชาวชนบทที่ยากไร้ จึงอยากให้สังคมได้สนับสนุนดูแล และ ให้กำลังใจแพทย์ชนบท เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายคือ ประชาชนสุขกาย หมอก็สุขใจ”

    “สำหรับเป้าหมายต่อไปในชีวิตของผมก็ ไม่มีอะไรมาก ผมคิดว่าผมอยากเกษียณอายุ ราชการก่อนกำหนดเมื่ออายุครบ ๕๕ ปี หลัง จากเกษียณผมก็คงจะทำงานให้ทางราชการต่อด้วยการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานราชการ เพราะ “ผมเป็นคนของหลวงก็ต้องทำงานให้หลวงต่อไป” แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว” นพ.เจริญ กล่าวทิ้งท้าย

นี่คือแนวคิดของ “แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี ๒๕๕๒” และขอให้กำลังใจแพทย์ชนบทต่อไป ที่ทำงานเสียสละต่อคนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ทำงานอย่างแข็งขัน แล้วผลตอบรับจะกลับมาหาด้วยความภาคภูมิใจอย่างแน่นอน

ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑๘๖๖ วันศุกร์ที่ ๒๕-วันจันทร์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๒
ที่มา : http://www.koratdaily.com

บทความใสสะอาด ที่เกี่ยวข้อง
Hover Icon
บทความใสสะอาด
ตามไปดูลูกสาวของแผ่นดินที่สงขลา
14 กุมภาพันธ์ 2566
251
Hover Icon
บทความใสสะอาด
คืนคุณภาพสู่ห้องเรียน
06 กุมภาพันธ์ 2566
1,866
Hover Icon
บทความใสสะอาด
จริยธรรมข้าราชการพลเรือน
06 กุมภาพันธ์ 2566
841
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว

การตั้งค่าคุกกี้